พุทธคยาเป็นหนุึ่งในพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา พุทธคยาเป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 2 ใน 4 สังเวชนียสถาน
ความสำคัญ: เป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ตั้ง: ตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพุทธคยา
- พุทฺธคยา (Bodh Gaya) เป็นชื่อภาษาบาลี ซึ่งปัจจุบันพุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple)
- ตั้งอยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร
- ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยาชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล
- พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู2
- พุทธคยาได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2545
ประสบการณ์ที่พุทธคยา
มาแสวงบุญครั้งนี้เราได้เข้าไปข้างใน 2 ครั้งด้วยกันไป เป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้าไปทั้งในช่วงตอนกลางวันและกลางคืน
ก่อนถึงทางเข้าจะมีเคาร์เตอร์ให้ฝากรองเท้าและฝากมือถือและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ถ้าใครอยากถ่ายรูปข้างใน ขอแนะนำให้เอากล้องถ่ายรูปมาด้วยเพราะข้างในเอามือถือเข้าไปไม่ได้ แต่สามารถเอากล้องถ่ายรูปเข้าไปได้ โดยจ่ายค่ากล้องถ่ายรูป 100 รูปี ซึ่งราคานี้เฉพาะถ่ายรูป ถ้าถ่ายวิดีโอด้วยจะแพงกว่า (ตามรูป)
เดินไปอีกนิดก็เห็นทางเข้า ช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่มีงานสาธยายพระไตรปิฎกด้วย ก็จะมีป้ายต้อนรับเข้างานสาธยายพระไตรปิฎกคนเลยค่อนข้างเยอะ
เดินเข้าไปอีกนิดก็จะเจอทางเข้าวัดจริงๆจะมีการตรวจความปลอดภัย และตรวจอุปกรณ์สื่อสาร แยกแถวชายหญิง
มาถึงแล้ว “พุทธคยา” ด้านในก็จะมีสัตตมหาสถาน ช่วงที่เราไปเป็นช่วงสิ้นปีหน้าหนาวพอดี รูปที่ถ่ายมาส่วนใหญ่ก็เลยจะติดหมอกมาด้วย อาจจะไม่ชัดบ้าง ต้องขออภัยล่วงหน้า
สัตตมหาสถาน ก็คือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษแล้วเป็นเวลาแห่งละ 1 สัปดาห์ รวม 49 วัน เพื่อพิจารณาพระโพธิญาณที่ได้ทรงตรัสรู้นั้นให้แน่พระทัย มีดังต่อไปนี้
สัปดาห์ที่ 1: พระแท่นวัชรอาสน์ หรือ “โพธิบัลลังก์ (Vajarasana)
ตั้งอยู่ระหว่างองค์พระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์(Maha Bodhi Tree) โดยต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า
ส่วนพระแท่นวัชรอาสน์มีลักษณะเป็นแท่นหินสี่เหลี่ยมมี สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม สลักเสลาลวดลาย ขนาด ยาว 7 ฟุต กว้าง 4.10 ฟุต หนา 5.5 นิ้ว ตั้งสูงจาก 3 ฟุต เป็นสถานที่ประทับในคืนตรัสรู้ ซึ่งพระองค์ทรงลาดหญ้ากุสะเป็นบัลลังก์ประทับนั่ง และพระองค์ได้ทรงอธิษฐาน ณ อาสนะนี้ ความว่า “หากแม้นเลือดและเนื้อจะเหือดจะแห้งอย่างไร ถ้าไม่บรรลุพระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจักไม่เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะนี้” อาสนะนี้จึงได้ชื่อว่า วัชระอาสน์ ซึ่งวัชระ แปลว่า เพชร, อาสนะ แปลว่า ที่นั่ง ดังนั้น วัชระอาสน์ มีความหมายว่า “พระที่นั่งแห่งมหาบุรุษใจเพชร”
สัปดาห์ที่ 2 : อนิมิสสเจดีย์ (Animesa Locana Chaitya)
พระองค์ทรงดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต้นโพธิ์ ทรงยืนพิจารณาทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตรเลยตลอด 7 วัน ทรงหวลระลึกถึงอดีตที่ทรงชำระกิเลสหมดสิ้นผ่องใส ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ประทับยืนนั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์
ภายในประดิษฐานพระพุทธเมตตาพระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธ รูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
สัปดาห์ที่ 3 : รัตนจงกรมเจดีย์ (Cankamana Chaitya or Cloister Path)
พระพุทธเจ้า เสด็จไปบริเวณทิศเหนือของพระศรีมหาโพธิ์ ทรงนิรมิตที่จงกรม ระหว่างโพธิบัลลังก์ กับที่ประทับยืน ที่อนิมิสเจดีย์ ทรงเสด็จจงกรมจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์
ปัจจุบัน รัตนจงกรมเจดีย์ อยู่ข้างพระมหาเจดีย์ ด้านทิศเหนือ มีหินทรายสลักเป็นดอกบัวบาน จำนวน 19 ดอก มีแท่นหิน ทรายแดงยาวประมาณ 6 เมตร
สัปดาห์ที่ 4 : รัตนฆรเจดีย์ (Ratanaghrara Chatiya)
พระองค์เสด็จไปประทับ ณ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับในเรือนแก้ว (รัตนฆร) ที่เทวดา นิรมิตถวาย ทรงประทับภายวนเรือนแก้วนั้นตลอด 7 วัน ทรงพิจารณาพระอภิธรรม เมื่อทรงพิจารณาถึงมหาปัฏฐาน ปรากฏมี พระฉัพพรรณรังสีแผ่ออกมาจากพระวรกาย
ปัจจุบันสถานที่ที่เป็นรัตนฆรเจดีย์นั้น มีอนุสรณสถานเป็นรูปวิหารทรงสี่เหลี่ม ไม่มีหลังคามุง กว้างประมาณ 11 ฟุต ยาวประมาณ 14 ฟุต รอบข้างเต็มไปด้วยเจดีย์โบราณ มีพระพุทธรูปสมับคุปตะและสมัยปาละ พิจารณาแลัวเห็นน่าจะมีผู้นำ มาตั้งไว้ในสมัยหลัง หน้าประตูเข้าด้านตะวันตกมีป้ายบอกว่า รัตนฆรเจดีย์ (Ratnagrha Chatiya)
สัปดาห์ที่ 5 : อชปาลนิโครธ (Ajapala Nigrodha Tree : Banyan Tree)
อชปาลนิโครธ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ คำว่า อชปาลนิโครธ หมายถึง ต้นไทรอันเป็นที่รักษาแพะ หมายถึง ต้นไทรนี้ มักมีเด็กเลี้ยงแพะ พาแพะ มาหากิน เสมอๆ พระพุทธเจ้า ขณะยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ตรัสรู้ ได้เคยเสด็จมารับข้าวมธุปายาส จากนางสุชาดาครั้งหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ ประทับอยู่ 7 วัน ขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามาร 7 ตน คือ นางราคะ นางอรตี และนางตัณหา ได้อาสาผู้เป็นบิดาเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ไปเสีย แสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้
สัปดาห์ที่ 6 : สระมุจลินทร์ (Mucalinda Lake)
พระพุทธองค์ได้เสด็จไปที่ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากแม่น้ำเนรัญชรา ครึ่งกิโลเมตร ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ราวๆ ๒ กิโลเมตร ทรงประทับนั่งที่นั่นตลอด ๗ วัน ๗ คืน ขณะนั้นเกิดฝนตกใหญ่ พญานาค นามว่า มุจลินทร์ ปรารถนาจะกำบังผนให้พระพุทธองค์ จึงขนดตนเองวนรอบ พระวรกาย และแผ่พังพานบังลมผน ตลอด ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วัน ลมฝนสงบแล้ว ได้คลายตัวออก และแปลงเพศเป็นมานพหนุ่ม ถวายบังคม ณ เบื้องพระพักตร์
เดินผ่าน วิหารมหาโพธิสังฆาราม พุทธคยา ก็จะเจอกับสระมุจลินท์
ปัจจุบัน บริเวณที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ เป็นสระบัวขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า มุจลินทร์โบกขรี (สระบัวมุจลินทร์) มีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่กลางสระ

สัปดาห์ที่ 7 : ราชายตนะ หรือต้นเกด (Rajayatana )
อยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ห่างจากแม่น้ำเนรัญชราไปทางทิศตะวันตก 2 กม. เป็นทางผ่านของขบวนกองเกวียนที่มีพ่อค้า 2 คน ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางมาถึงที่ประทับ เกิดความเลื่อมใสจึงพากันเข้าเฝ้าพร้อมถวายข้าวสัตตุ (ข้าวตู)
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายไม่รับด้วยมือ ท้าวเทวราชทั้ง 4 ทรงนำบาตรศิลา 4 ใบแล้วอธิษฐานให้เป็นบาตรเดียวรับข้าวสัตตุ จากนั้นพ่อค้าทั้งสองจึงได้ประกาศตนเป็นอุบาสก เป็นสรณะตลอดชีวิต (ขอบคุณรูปภาพจากเฟสบุ๊ควัดไทยพุทธคยา)
ช่วงที่ไปมีงานสาธยายพระไตรปิฎก ณ บริเวณมณฑลใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ พุทธคยาอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- รวบรวมข้อมูลสำหรับผู้ที่จะไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย,เนปาล
- สังเวชนียสถานแห่งที่ 1 ลุมพินี,เนปาล (Lumbini, Nepal)
- สังเวชนียสถานแห่งที่ 3 สารนาถ,อินเดีย (Sarnath, India)
- สังเวชนียสถานแห่งที่ 4 กุสินารา,อินเดีย (Kusinaga,India)
Tips
- 50 ข้อควรรู้ก่อนไปเยือนอินเดียครั้งแรก
- ใครที่วางแผนไปเดินทางไปอินเดีย ขอแนะนำให้เช่า Pocket Wifi สำหรับใช้ที่อินเดียโดยเฉพาะเพราะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัดและแชร์ได้หลายเครื่อง